Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ภัยธรรมชาติทางพายุ


ในช่วงนี้ คงได้เห็นข่าวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกันอยู่บ่อยๆ ตัวอย่างเช่น พายุที่พัดเข้าถล่มประเทศในแถบเอเซียของเรานี้เอง ไม่ว่าจะเป็น พายุไซโคลนนาร์กิส พายุไต้ฝุ่นป้าหม่า พายุโซนร้อนเกศนา ซึ่งผู้เขียนเอง เกิดความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อน จึงได้ไปค้นข้อมูล และจะได้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
  พายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุหมุนที่เกิดขึ้นในเขตร้อน บริเวณเส้นศูนย์สูตรระหว่าง 8-12 องศาเหนือและใต้ โดยมากมักเกิดบริเวณพื้นทะเลและมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส จัดว่าเป็นพายุที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งเกิดจากศูนย์กลางความกดอากาศต่ำมากที่สุด ที่มีลมพัดเข้าหาศูนย์กลางในซีกโลกเหนือ
ทิศทางการหมุนของลม มีทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ส่วนซีกโลกใต้มีทิศทางตามเข็มนาฬิกา (ดังรูปที่ 1)








รูปที่ 1 ภาพแสดงลักษณะของพายุหมุนเขตร้อน







รูปที่ 2 ภาพแสดงโครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อน
สำหรับ โครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อน (รูปที่ 2) ประกอบด้วย
  1) บริเวณตาพายุ (EYE STORM)
  คือ เป็นศูนย์กลางกลางพายุเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด มีลักษณะเป็นทรงกลม และกลมรี ซึ่งบริเวณตาพายุจะเงียบสงบ ท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีฝนตก ลมสงบนิ่ง หรือไม่มีลมพัด แต่อากาศจะร้อนอบอ้าว เนื่องจากความกดอากาศต่ำในบริเวณตาพายุนั่นเอง
  2) บริเวณกำแพงตาพายุ (EYEWALL)
  คือ บริเวณรอบๆ ตาพายุ รัศมีรอบตาพายุประมาณ10-25 กิโลเมตร เป็นจุดที่มีพายุลมแรงจัด และฝนตกหนักสูงที่สุดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของพายุ เนื่องจากบริเวณกำแพงพายุประกอบไปด้วย
เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ที่เกิดจากการก่อตัวในแนวดิ่งอย่างรุนแรง พร้อมทั้งยกเอาอากาศร้อนและอากาศชื้นขึ้นไปสู่เบื้องบนของชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็วกลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง
  3) บริเวณพายุฝนฟ้าคะนองจากเมฆคิวมูโลนิมบัส (RAINBANDS)
  เป็นบริเวณที่อยู่รอบนอกกำแพงพายุ ซึ่ง RAINBANDS ประกอบไปด้วยเมฆคิวมูโลนิมบัสเช่นเดียวกับบริเวณกำแพงพายุ โดยก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง แต่บริเวณ RAINBANDS และ บริเวณ EYEWALL มีความต่างกันตรงที่ บริเวณ RAINBANDSนี้ จะทำให้เกิดลมพายุจัด และเกิดฝนตกหนักได้ และในขณะเดียวกัน ฝนก็อาจตกๆ หยุดๆ กระแสลมก็จะมีลักษณะกระโชกแรงสลับกับลมอ่อนๆ เป็นช่วงๆ ส่วนบริเวณ EYEWALL จะมีทั้งกระแสลมและฝนจะรุนแรงมากกว่าหลายเท่า กระแสลมและฝนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด


  สำหรับประเภทของพายุนั้น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้แบ่งประเภทของพายุตามความเร็วใกล้ศูนย์กลางพายุ โดยแบ่งตามความรุนแรง ได้ดังนี้
  1. พายุดีเปรสชั่น (Depression) เป็นพายุที่มีความเร็วใกล้ศูนย์กลางพายุไม่เกิน 33 นอต
(63 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ใช้สัญลักษณ์ “D“ เป็นพายุอ่อนๆ มีฝนตกบาง ถึงหนัก

  2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นพายุที่มีความเร็วใกล้ศูนย์กลางพายุ 34-63 นอต
(64-115 กิโลเมตร/ชั่วโมง) มีกำลังปานกลาง มีฝนตกหนัก ใช้สัญลักษณ์ “S”

  3. พายุหมุนเขตร้อน หรือพายุไซโคลนเขตร้อน (Tropical Cyclone) มีความเร็วใกล้ศูนย์กลางพายุ 64-129 นอต (118-239 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เป็นพายุที่มีกำลังแรงสูงสุด มีฝนตกหนักมาก บางครั้งจะมีพายุฝนฟ้าคะนองด้วย
  ในส่วนของชื่อเรียกของพายุนั้น ได้ตั้งขึ้นตามแหล่งกำเนิด ดังนี้
  1. พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
  2. พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น
  3. พายุไซโคลน (Cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าว
เบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น

  4. พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy) เป็นชื่อพายุที่เกิด บริเวณทะเลติมอร์และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
  5. พายุบาเกียว (Baguio) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิด ในบริเวณ หมู่เกาะฟิลิปปินส์
 6. พายุทอร์นาโด (Tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่นๆ ก่อให้เกิดความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบนบก และในทะเล หากเกิดในทะเล จะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง
  การเรียกชื่อพายุนั้น ในเขตภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือ ด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้ นักอุตุนิยมวิทยาได้ตั้งชื่อพายุไว้ 5 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยชื่อพายุหมุน 28 ชื่อ โดยความร่วมมือในการเสนอชื่อของ 14 ประเทศในแถบภูมิภาคดังกล่าว นำมาใช้เป็นชื่อพายุหมุนเขตร้อน การใช้จะใช้หมุนเวียนกันไปตามแถว โดยเริ่มตั้งแต่แถวแรกของสดมภ์ที่ 1 ไปจนถึงชื่อสุดท้ายของสดมภ์ แล้วจึงขึ้นไปใช้ชื่อของแถวแรกของสดมภ์ที่ 2 รายละเอียดดังตารางที่ 1

  ท้ายที่สุดนี้ ทุกท่าน คงได้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพายุในเบื้องต้นกันแล้ว ส่วนแต่สาเหตุที่แท้จริงของภัยธรรมชาติอย่างพายุนั้น เป็นผลเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งทำให้อุณหภูมิของ
น้ำทะเลสูงขึ้น และพายุที่เกิดขึ้นนี้ ได้สะสมพลังงานจากการระเหยของน้ำทะเล และเริ่มก่อตัวขึ้น ยิ่งอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเท่าไหร่ พายุที่เกิดขึ้น ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
 จึงอยากให้ช่วยกันคนละไม้ละมือ ช่วยลดสภาวะโลกร้อน จะได้ไม่เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นกว่านี้ในอนาคตข้างหน้าค่ะ



       ที่มา :   http://www.npc-se.co.th/news_safety/npcse_03evi.asp?news_id=3042

นายธนาวุฑฒ์   สาระหงษ์  ม.5/6  เลขที่  27